โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการขนส่งไทยระยะที่ 2
แนวคิดใหม่: ศูนย์ร่วมประสานการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
Logistics Collaboration Hub (LC-Hub)
โลจิสติกส์ (Logistics) มีความเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท จึงมีความสำคัญต่อระบบการค้าและเศรษฐกิจของไทย ทั้งในแง่ของการเป็นกลไกในการสนับสนุนให้สินค้าไทยเดินทางไปสู่ทุกตลาดหรือสู่ผู้บริโภคในทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็วและประหยัดกว่าสินค้าของคู่แข่งขันจากทั่วโลก ถ้าหากโลจิสติกส์ไทยได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าบริการด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการขนส่งย่อมทำให้ธุรกิจไทยทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะผลกระทบจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรีภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)และยังไม่รวมถึงกรอบการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอื่นๆ
หากเปรียบเทียบขีดความสามารถของประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันด้วยดัชนีความสามารถด้านโลจิสติกส์ หรือ LPI (Logistics Performance Index)พบว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 35 ในปี 2553 ร่วงหล่นจากอันดับที่ 31 ในปี 2550 โดยไทยยังคงเป็นรองประเทศสิงคโปร์(อันดับที่ 2 ของโลก)และมาเลเซีย(อันดับที่ 29 ของโลก) ประกอบกับรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ในปี 2552 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ที่ 16.8 ของ GDP (แม้ว่าลดลงจากปี 2551ซึ่งมีต้นทุนร้อยละ 18.6 ของ GDP) ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ร้อยละ 7-10 ของ GDP จึงเป็นเหตุผลว่าผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันกับผู้ประกอบการขนส่งในชาติอาเซียน
หากดำเนินการวิเคราะห์ในภาพผลกระทบของอุตสาหกรรมในสาขาการให้บริการโลจิสติกส์จะพบว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีบทบาทอย่างสูงมากต่ออุตสาหกรรมอื่นๆที่เชื่อมโยงกันและในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมการบริการประเภทหนึ่งโดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องจดทะเบียนแล้วกว่า 15,000 บริษัท และมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนมูลค่าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปี 2553 คาดการณ์ว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของการขนส่งสินค้าทางบกกว่า 450,000 ล้านบาท และเป็นภาคธุรกิจสนับสนุน เช่น ตัวแทนออกของ ตัวแทนขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และกิจการสนับสนุนด้านขนส่งอีกกว่า 250,000 ล้านบาท
หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่ากว่าร้อยละ 85 ของอุตสาหกรรมการบริการโลจิสติกส์ของไทย จะเป็นกลุ่ม SME และปัจจุบันกำลังได้รับแรงกดดันจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะต้องเสียเปรียบอย่างมากให้กับบริษัทคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการที่เหนือกว่า มีอุปกรณ์การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นหมายความว่ายังไม่เพียงพอในการรับมือผลกระทบจากความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีที่เอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการบริการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นกรมการค้าต่างประเทศได้เล็งเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาผู้ให้บริการขนส่งให้สามารถแข่งขันได้หรือสามารถอยู่รอดปลอดภัยทางธุรกิจในระยะยาว ด้วยโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการขนส่งไทยระยะที่ 2แนวคิดใหม่: ศูนย์ร่วมประสานการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์Logistics Collaboration Hub (LC-Hub) อันประกอบด้วย2 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 คือการยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดยจัดให้มีการพัฒนาความรู้ของผู้ประกอบการขนส่งผ่านการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ
กิจกรรมที่ 2 คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่งโดยการช่วยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ขาดเงินทุนและความสามารถในการพัฒนาระบบด้วยตนเอง ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพของการบริการและลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้
1. เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และสามารถนำความรู้และหลักการจัดการโลจิสติกส์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาและลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2. เพื่อพัฒนาศูนย์ร่วมประสานการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (LogisticsCollaboration Hub หรือ LC-Hub) โดยให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความจำเป็นต่อการให้บริการสมาชิกของสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยรวมทั้งผู้ประกอบการอื่นๆในอนาคตและลดภาระการลงทุนพัฒนาและการดูแลระบบสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
ผลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการขนส่งไทยซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 1 พบว่า ถึงแม้ซอฟต์แวร์ TMS ขั้นพื้นฐานที่ได้แจกจ่ายไปนั้นสามารถใช้งานได้ดีตามที่ออกแบบมา แต่เนื่องจากบริษัทผู้ประกอบการขนส่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ยังขาดความเชี่ยวชาญในการใช้และดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้ อีกทั้งซึ่งภาระการดูแลและปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคต ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟต์แวร์ TMS ขั้นพื้นฐานนี้จะต้องมีภาระเพิ่มในการดูแลและปรับปรุงระบบนี้ด้วยตนเองและทำให้ลดทอนเวลาในการทำธุรกิจลง เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถให้คำแนะนำปรับปรุงและดูแลระบบอย่างต่อเนื่อง
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยมีความเชื่อว่าผู้ประกอบการขนส่งไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตรงกับความต้องการการใช้งานของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์จากระบบตลอดเวลา ทำให้ลดความผิดพลาดในการใช้ระบบ ลดภาระและค่าใช้จ่ายที่แต่ละบริษัทผู้ประกอบการต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยหรือการดูแลระบบฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการ และในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งจำเป็นต้องรวมตัวกัน(Cluster)เพื่อแข่งขัน องค์กรกลางนี้จะสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมให้บริษัทสมาชิกขององค์กรสามารถร่วมประสาน (Collaborate) กันได้ ซึ่งองค์กรกลางนี้ทางสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยจะเรียกว่า“ศูนย์ร่วมประสานการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Logistics Collaboration Hub หรือ LC-Hub)”และมีเป้าหมายในการให้บริการด้านระบบกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยในระยะยาว
รูปที่ 1 กรอบความคิดของการบริการของ LC-Hub
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดของการให้บริการของศูนย์ LC-Hub โดยที่ศูนย์แห่งนี้จะสามารถให้บริการหลายๆ ผู้ประกอบการขนส่งพร้อมๆกัน ไม่ว่าผู้ประกอบการไทยจะขยายสาขาไปยังประเทศใดในภูมิภาคอาเซียนและเป็นการให้บริการกลุ่มผู้ประกอบการไทยโดยการออกแบบระบบและการให้บริการจะคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของสมาชิกส่วนใหญ่ทั้งนี้ ก็เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าในอีก 2 ปีข้างหน้า
ความจำเป็นในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตจึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากมาตรฐานการขนส่งของผู้ประกอบการขนาดย่อมในประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก จึงถือเป็นวาระเร่งด่วนในการช่วยเหลือเพื่อยกระดับมาตรฐานการขนส่งของผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการนำระบบ LC-Hub มาเป็นเครื่องมือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนส่งในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
รูปที่2 การให้บริการของศูนย์ LC-Hub
ถึงแม้การออกแบบระบบของศูนย์ LC-Hub จะมุ่งไปสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทยเป็นหลัก อย่างไรก็ดีในระยะยาวศูนย์ LC-Hub มีเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้ซื้อบริการขนส่งมาเป็นสมาชิกด้วย อาทิ ผู้ซื้อสินค้าและผู้ขายสินค้าที่อาจจะเป็นผู้ที่ว่าจ้างขนส่ง และอาจจะเป็นผู้ส่งและ/หรือผู้รับสินค้าก็ได้ รูปที่ 2แสดงให้เห็นว่าทางศูนย์จะมีพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ที่คอยรับเรื่องการใช้ระบบของสมาชิก และเมื่อทางศูนย์ฯสามารถให้บริการข้อมูลให้กับผู้ประกอบการขนส่งแล้ว ศูนย์LC-Hub ที่สมบูรณ์จะมีความสามารถในการเชื่อมโยงกับสมาชิกอื่นๆที่เป็นลูกค้าของผู้ขนส่งด้วย และจะช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้ใช้บริการขนส่งกับผู้ซื้อสินค้า ผู้ขายสินค้า รวมทั้งตัวแทนขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการขนส่งจะสามารถเติบโตและขยายธุรกิจของตนเองในอนาคตได้ โดยที่มีศูนย์ LC-Hub เป็นผู้ทำการเชื่อมประสานและสนับสนุนทุกฝ่าย
1. พัฒนาศักยภาพบุคลากรของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ โดยการศึกษาวิเคราะห์ระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย จัดการฝึดอบรมเชิงปฏิบัติการ และจัดให้มีการดูงาน
2. พัฒนาศูนย์ LC-Hub สำหรับผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์
2.1 ภาพรวมของศูนย์ร่วมประสานการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (LC-Hub)
เพื่อให้การบริการของ LC-Hub ตอบสนองต่อความต้องการการใช้ระบบของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ศูนย์ LC-Hub จำเป็นต้องมี องค์ประกอบ ดังนี้
a) ระบบฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ รวมทั้งระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของสมาชิกผู้ใช้ระบบจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
b) ระบบซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้งาน
c) บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและดูแลระบบต่างๆ
d) อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต รวมทั้งบุคลากรที่ทำการฝึกอบรม และบุคลากรสำหรับให้บริการตอบคำถามต่างๆให้กับสมาชิกผู้ใช้บริการเวลาที่ติดขัดในการใช้ระบบ โดยให้บริการในวันเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งมีระบบอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่สามารถช่วยตัวเองได้ด้วย
2.2 รูปแบบการขนส่งของบริษัทขนส่งสินค้าที่ LC-Hub รองรับจากการสำรวจพบว่าซอฟต์แวร์ TMS ในโครงการระยะที่ 1 นั้น เหมาะสำหรับผู้ประกอบการขนส่งไทยที่มีรูปแบบการขนส่งแบบเหมาคัน (Full Load) แต่ปัจจุบันรูปแบบการขนส่งของผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ การขนส่งสินค้าแบบเหมาคันรถ (Full Load) และการขนส่งสินค้าแบบแยกย่อย (Loose Load)ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ในโครงการระยะที่ 2 จึงจะทำการออกแบบให้รองรับรูปแบบการขนส่งที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นดังนี้
1) การขนส่งสินค้าแบบเหมาคัน (Full Load )เป็นการรับจ้างขนส่งสินค้าในราคาเหมาคัน โดยปกติผู้รับจ้างขนส่งสินค้าจะนำรถเปล่าจากสถานีต้นทางไปรับสินค้าตามสถานที่ที่ผู้ส่งระบุ เช่น ที่โรงงานหนึ่งๆ เป็นต้น และสินค้าจะถูกขนขึ้นรถบรรทุก ณ จุดนั้น และหลังจากนั้น นำไปส่งให้ผู้รับที่จุดหมายปลายทางหลังจากนั้น รถคันดังกล่าวอาจจะวิ่งเที่ยวเปล่ากลับมายังต้นทาง หรือ อาจจะไปรับสินค้าอื่นก่อนกลับมาก็ได้
รูปที่ 3 การขนส่งแบบ Full Load
2) การขนส่งสินค้าแบบแยกย่อย (Loose Load )เป็นการขนส่งสินค้าของลูกค้าหลายเจ้าในรถบรรทุกคันเดียวกัน ซึ่งโดยปกติ ลูกค้าย่อยหลายๆรายจะนำสินค้าของตนเองไปยังศูนย์กระจายสินค้าของผู้รับขนส่งสินค้า เช่น กรณีของกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงสาย 5 เป็นต้น และระบุว่าต้องการว่าจ้างให้ส่งสินค้าของลูกค้าเหล่านี้ไปยังจุดหมายปลายทางอะไรบ้าง และบริษัทรับจ้างขนส่งนี้ก็จะรวบรวมสินค้าที่ไปยังจุดหมายเส้นทางเดียวกัน และทำการบรรจุขึ้นรถคันเดียวกันและให้เต็มคันให้มากที่สุด ก่อนที่จะออกรถไปยังจุดหมายปลายทางซึ่งในกรณีนี้เรายังสามารถแบ่งประเภทของการขนส่งนี้ออกเป็นอีก2 ประเภท ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหลังจากไปถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นสาขาของสถานีต้นทาง
3) การขนส่งแบบกระจายจากศูนย์ (Hub & Spoke )และการวิ่งรถบรรทุกสายสั้นสายยาว(Long Haul) โดยลำเลียงสินค้าจากสถานีต้นทาง (Hub) ไปยังสถานีปลายทางที่เป็นสาขาต่างจังหวัดก่อน (Spoke) แล้วจึงกระจายต่อไปยังที่อยู่จริงของผู้รับอีกทีโดยที่มีวิธีการกระจายอยู่ 2 แบบคือ
ก. การกระจายที่สาขาด้วยรถขนส่งสินค้าขนาดเล็ก(เราจะเรียกว่า Hub and Spoke แบบที่ 1 หรือ H&S1) คือการวิ่งรถบรรทุกสายยาวและถ่ายลำที่สถานีสาขาเพื่อให้รถบรรทุกขนาดเล็กกระจายสินค้าต่อไปยังผู้รับปลายทาง
รูปที่4 การขนส่งแบบ Hub & Spoke1 แบบใช้รถเล็กกระจายสินค้า
ข. การกระจายสินค้าด้วยรถบรรทุกสายยาวคันเดิม (เราจะเรียกว่า Hub and Spoke แบบที่ 2 หรือ H&S2) คือการวิ่งรถบรรทุกสายยาวไปยังสถานีสาขา แต่มีการเปลี่ยนพนักงานขับรถใหม่ที่สถานีสาขาเพื่อทำการกระจายไปยังผู้รับปลายทาง
รูปที่ 5 การขนส่งแบบ Hub & Spoke2 แบบใช้รถใหญ่กระจายสินค้า
4) การวิ่งรถบรรทุกสายสั้น หรือการวิ่งรถบรรทุกแบบ Milk Runเป็นการขนส่งที่สินค้าที่ใส่รถบรรทุกไม่เต็มลำในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถปล่อยรถบรรทุกนั้นไปยังสาขาที่เดียวได้ จึงต้องทำการปนสินค้าไปกับสาขาอื่นๆที่เป็นทางผ่าน
รูปที่ 6การขนส่งแบบ Milk Run
1. ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการโดยและจัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวโครงการ
โดยการดำเนินการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นด้านการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการในการพัฒนาธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ในวันที่ 30 กันยายน 2556
2. ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการในส่วนของระบบ LC-Hub
โดยการคัดเลือกจากใบสมัคร แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และคำแนะนำจากสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย จำนวน 10 บริษัท
3. จัดอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้บริหารธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของระบบ LC-Hub ทุกบริษัทและผู้บริหาร/เจ้าของกิจการ/ผู้จัดการและหัวหน้างานผู้ประกอบธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้
3.1. การฝึกอบรมหลักสูตร Nano MBA in Logistics Management
โดยเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะในการดำเนินการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้แก่บุคลากร เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการปฎิบัติมากขึ้น โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน คือ จัดทำเอกสารประกอบการอบรม 12 ดังนี้
(1) การพัฒนาองค์กรกับการทำงานเป็นทีม
(2) บทบาทภาครัฐในการพัฒนาโลจิสติกส์
(3) กลยุทธ์ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระดับโลก
(4) กลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี
(5) กลยุทธ์ด้านการเงินในธุรกิจโลจิสติกส์ภาค 1
(6) กลยุทธ์ด้านการเงินในธุรกิจโลจิสติกส์ภาค 2
(7) กลยุทธ์การบริหารระบบงานด้านโลจิสติกส์
(8) กลยุทธ์การบริหารพันธมิตร
(9) กลยุทธ์การปรับตัวรองรับกฎหมายขนส่ง AEC
(10) กลยุทธ์ด้านคุณภาพบริการ
(11) การเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของจีน
(12) การรวมตัวของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
3.2. การรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรม
1) เปิดรับสมัครให้ผู้เข้าร่วมรับการอบรมอย่างน้อย 50 คนต่อ 1 หลักสูตรโดยผู้เข้าร่วมอบรมจะเป็นผู้บริหารจากสมาชิกของสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติก์ไทยและผู้ประกอบการขนส่งโลจิสติกส์ทั่วไป โดยมีบริษัทที่ถูกคัดเลือกให้ใช้ระบบ LC-Hub ทุกบริษัทเข้าร่วมรับการอบรมด้วย
2) คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการอบรมคือ ผู้บริหาร/เจ้าของกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ระดับผู้จัดการในธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ระดับหัวหน้างานในธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
3.3. จัดให้มีการศึกษาดูงานผู้ประกอบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์
ครั้งที่ 1 ศึกษาดูงานบริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด หรือ เทสโก้โลตัส ณ ศูนย์กระจายสินค้าสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ครั้งที่ 2ศึกษาดูงาน บริษัท เมิร์กไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ณ ICD ลาดกระบัง และบริษัท สยามคอมเมอร์เชียล ซีพอร์ท จำกัด ณ ท่าเรือจังหวัดชลบุรี
3.4. การอิมพลีเมนต์ระบบ (Implementation) และการสนับสนุนลูกค้า
การอิมพลีเมนต์ระบบและสนับสนุนลูกค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจและสามารถใช้งานระบบของ LC-Hub ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากมีข้อสงสัยยังสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ LC-Hub ได้โดยตรง โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯควรช่วยเหลือสมาชิกให้ได้รับการสนับสนุนที่ดี ในส่วนของการอิมพลีเมนต์นั้นทางศูนย์มีทีมที่ปรึกษาเพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกในการขึ้นระบบ ตั้งแต่เริ่มจนจบโครงการเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานจากระบบที่ใช้ปัจจุบันเป็นระบบของศูนย์ LC-Hub โดยมีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1) ดำเนินการทดสอบระบบและแก้ไขหากมีข้อผิดพลาดโดยทีมงานพัฒนาระบบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง
2) ดำเนินการทดสอบระบบโดยบริษัทร่วมโครงการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบ
สามารถทำงานเข้ากันได้กับกระบวนการทำงานของแต่ละบริษัท และประเมินการใช้งานระบบพร้อมจัดทำสรุปผลการประเมิน จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ชุดเพื่อปรับปรุงระบบต่อไป
3.5. คู่มือฝึกอบรมเป็นภาษาไทย
เพื่อใช้ในการฝึกอบรมให้กับบริษัทร่วมโครงการฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 บริษัทๆ ละ 2 ชุด และส่งให้กรมการค้าต่างประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ชุดรวมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ชุด
3.6. ดำเนินการอบรมการใช้งานระบบ LC-Hub
ให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัทร่วมโครงการฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนโดยมีรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จำนวน 3 วันให้กับบริษัทร่วมโครงการ
3.7. การสนับสนุนลูกค้า
โดยให้ความร่วมมือในการดูแลบริษัทผู้เข้าร่วมโครงการฯ เช่น การตอบคำถาม การแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานใช้งานระบบสามารถใช้งานระบบ LC-Hub ได้
3.8. การตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
ระบบที่พัฒนาขึ้นจะได้รับการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศโดยเครื่องมือวิเคราะห์ช่องโหว่ ประเภท vulnerability assessment และดำเนินการแก้ไขช่องโหว่ที่ตรวจพบก่อนใช้งานจริง พร้อมจัดทำรายงานการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ชุด
3.9. การรับประกัน
ที่ปรึกษารับประกันโปรแกรมเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากสัญญาสิ้นสุด
3.10. จัดให้มีการอบรมเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานด้วยภาษาASP.NET
โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับประกาศนียบัตรที่เกี่ยวกับด้านภาษา ASP.NET ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ อย่างน้อยจำนวน 5 วัน โดยมีผู้เข้าอบรมอย่างน้อย 2 คน
4. จัดประชุมสรุป และเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการฯ
ที่ปรึกษาจะดำเนินการจัดประชุมสรุปและเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการจำนวน 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 200 คน พร้อมเอกสารแจกผู้เข้าร่วมประชุม โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมประกอบด้วย
1) การบรรยาย การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของศูนย์ร่วมประสานการขนส่งและโลจิสติกส์ (LC-Hub) และสาธิตการใช้ระบบ LC-Hub เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบLC-Hub และเห็นความเป็นไปได้ในการปรับใช้กับองค์กรของตน
2) เสวนารับฟังความคิดเห็นประสบการณ์ของผู้ทดลองใช้ระบบ LC-Hub โดยมีจำนวนผู้ร่วมเสวนาไม่น้อยกว่า 4 ท่าน
3) จัดทำโบรชัวร์แผ่นพับสำหรับประชาสัมพันธ์ไม่น้อยกว่า 300 ชุด
5. จัดทำเอกสารผลการดำเนินงานโครงการฯ
โดยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม และแผ่นบันทึกข้อมูล (ดีวีดี) ส่งมอบให้กรมการค้าต่างประเทศ จำนวนอย่างน้อยอย่างละ 100 ชุด
รูปที่ 1 ภาพการกล่าววัตถุประสงค์ในงานเปิดตัวโครงการ โดยนายวรวิทย์ เจริญวัฒนพันธ์
นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
รูปที่ 2 ภาพการกล่าวเปิดงาน โดยนายชาญชัย ชัยเฉลิมศักดิ์
ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ประธานกรรมการตรวจรับฯ
รูปที่ 3 ภาพการเสวนาระดมความคิดเห็นในหัวข้อ
“เทคโนโลยีสารสนเทศด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงการค้า AEC ได้อย่างไร”
ประกอบด้วย ดร.ปรีชา พันธุมสินชัย, นายภูมิพันธ์ ภุมราพันธ์, นายทองคำ มานะศิลปพันธ์ และ นายสุรทิน ธัญญะผลิน
รูปที่ 4 ภาพการบรรยายเรื่อง “การบริหารโลจิสติกส์ยุคใหม่”
โดย อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
รูปที่ 5 ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมสัมมนา (1)
รูปที่ 6 ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมสัมมนา (2)
รูปที่ 7 ภาพบรรยากาศการฝึกอบรม Nano MBA(1)
รูปที่ 8 ภาพบรรยากาศการฝึกอบรม Nano MBA(2)
รูปที่ 9 ภาพบรรยากาศการฝึกอบรม Nano MBA(3)
รูปที่ 10 ภาพบรรยากาศการฝึกอบรม Nano MBA(4)